Durian is regarded as the king of Thai fruits

ทุเรียน ราชาผลไม้เมืองไทย

ทุเรียน ผลไม้หน้าร้อน ยอดฮิตกว่า 300 ปี…!?

: ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ 

ฤดูร้อนของไทย คงจะไม่มีผลไม้ใดเป็นที่ต้องการของตลาดได้มากเท่า ทุเรียน ราชาผลไม้เมืองไทย ไปได้อีกแล้ว เพราะว่าเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมาชุกชุมมากที่สุดระหว่างปี ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน (ผลผลิตจากภาคตะวันออก) หรือระหว่างเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม (ผลผลิตจากภาคใต้)

วันนี้ ยูสซี่ไลฟ์ ได้รวบรวมเรื่องราวของ ทุเรียน ราชาผลไม้เมืองไทย มาให้ชาวทุเรียนเลิฟเวอร์ ที่นอกจากความอร่อยยังได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปตามๆกัน

Map of Borneo

: ทุเรียน มาจากไหน?

ต้นทุเรียน เป็นไม้ผลเมืองร้อนในสกุล Malvales วงศ์ Bombacaceae คิดว่ามีต้นกำเนิดมาจากเกาะมลายูหรือเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลยเซีย และได้รับการปลูกมาหลายศตวรรษในเอเชียเขตร้อน ถือว่าเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในแถบเอเชียภูมิภาคนี้

คำว่า ทุเรียน (Durian) มาจากภาษามาเลเซียคำว่า “duri” ที่แปลว่าหนาม เพราะมีหนามแหลมปกคลุมทั่ว มีขนาดผลประมาณลูกฟุตบอล และมีกลิ่นที่เฉพาะตัว

นักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ชาวอังกฤษ เคยกล่าวถึงกลิ่นของทุเรียนว่า

“มันเหมือนกับคัสตาร์ดเนยที่ปรุงด้วยอัลมอนด์ ผสมกับรสชาติที่ชวนให้นึกถึงครีมชีส ซอสหัวหอม บราวน์เชอร์รี่ และสิ่งที่ไม่เข้ากันอื่นๆ … มันทั้งไม่เปรี้ยว ไม่หวาน ไม่ฉ่ำ แต่ใครๆต่างก็รู้สึกว่าไม่ได้ต้องการรสชาติเหล่านี้เพราะมันสมบูรณ์แบบตามที่เป็นอยู่แล้ว”

ในทางกลับกันก็มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ชอบกลิ่นของมันเอาซะเลย

: ทุเรียน มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วนะ

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ‘บันทึกของลาลูแบร์’ หนึ่งในคณะราชทูตจากฝรั่งเศส ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งมายังสยามประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ในช่วงปี พ.ศ. 2228

‘ดูเรียน (Durion) ชาวสยามเรียกว่า “ทูลเรียน” (Tourrion) เป็นผลไม้ที่นิยมกันมากในแถบนี้ แต่สำหรับข้าพเจ้า ไม่สามารถทนต่อกลิ่นเหม็นอันรุนแรงของมันได้ ผลมีขนาดเท่าผลแตง มีหนามอยู่โดยรอบ ดูๆ ไป ก็คล้ายกับขนุนเหมือนกัน มีเมล็ดมาก แต่เมล็ดใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้กิน ภายในยังมีอยู่อีกเมล็ดหนึ่ง ถือกันว่า ยิ่งมีเมล็ดในน้อย ยิ่งเป็นทูลเรียนดี อย่างไรก็ตาม ในผลหนึ่งๆ ไม่เคยปรากฏว่า มีน้อยกว่า ๓ เมล็ดเลย’

และในปลายสมัยรัชกาลที่ 3 จาก ‘จดหมายเหตุเรื่อง เซอร์เชมสับรุก ทูตอังกฤษเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญา เมื่อ พ.ศ. 2393’ ที่ เฮนรี เบอร์นี ทำไว้ในปี พ.ศ. 2369 การมาถึงของ เซอร์ เจมส์ บรูก ได้รับการต้อนรับอย่างดี สยามประเทศได้จัดหาข้าวปลาอาหารอย่างเต็มที่ รวมถึง “ทูลเรียน” ด้วย ซึ่งปรากฎเนื้อหาใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 เรื่องทูตฝรั่งสมัยรัตนโกสินทร์ หน้าที่ 141 บันทึกเรื่องตอนนี้ว่า

‘…เซอร์เชมสับรุก ให้เรียน ฯพณฯ ว่า ฯพณฯ ให้ขนมจีบกับทุเรียนไปนันมีความยินดีนัก ฯพณฯ ว่า เซอร์เชมสับรุกเคยกินแล้ว แต่มิศบรุกกับขุนนาง ๔ คนเป็นคนมาแต่เมืองวิลาศใหม่ไม่เคยกิน จึงอุตส่าห์หาไปให้กิน จะได้รู้รสทุเรียน…’

จากหลักฐานที่สำคัญทั้ง 2 ชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ทุเรียน เป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนนำมาเป็นผลไม้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สมกับฉายา “ราชาผลไม้เมืองไทย” เสียจริง

side of woman hand catching fat body belly paunch

ประโยชน์และข้อควรระวังของการบริโภคทุเรียน…!

: ทุเรียน มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูง ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด จริงหรือไม่?

จากผลการศึกษาฤทธิ์ทางชีวิตภาพของทุเรียนในไทย โดยนักวิทยาศาสตร์สายเภสัชศาสตร์ระดับโลก จากมหาวิทยาลัยฮิบบรู ประเทศอิสราเอล (Hebrew University Jerusalem, Israel) ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ (Professor Dr. Shela Gorinstein) ซึ่งเป็นนักวิจัยอาคันตุกะ ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เจ้าของงานวิจัยเรื่อง ‘สารแอนตี้ออกซิแดนต์ ในผลไม้เมืองร้อน : ประโยชน์ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต’

ซึ่งผลการทดลองในห้องทดลองและในสิ่งมีชีวิตพบว่า

ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่สุกพอดี มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูง และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด

นอกจากนั้น ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ยังมีโปรตีนไฟบริโนเจน (Fibrinogen) ที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว (ช่วยให้เลือดหยุดไหล) และสารเควอซิติน (Quecertin) ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการวิจัยมาก่อน 

ทั้งนี้สิ่งมีชีวิตในการทดลองคือ หนู และหนูทดลองที่ได้รับทุเรียนหมอนทอง ไม่ได้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แต่หนูที่ใช้ทดลองไม่ได้เป็นเบาหวานเช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อศึกษาว่า คนที่เป็นเบาหวานสามารถรับประทานทุเรียนได้หรือไม่ มากน้อยเช่นไร

ดังนั้นผู้บริโภค ควรเลือกรับประทานให้เหมาะสมกับร่างกาย เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการบริโภค

: ทุเรียน บริโภคเยอะแล้วอ้วนไหม?

จากฐานข้อมูลมาตรฐานสารอาหารสำหรับการอ้างอิงมาตรฐาน (National Nutrient Database for Standard Reference) กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) เปิดเผยว่า

ทุเรียน 100 กรัม (g) ประมาณ 2-3 เมล็ด หรือประมาณ 2/3 พลู ขนาดกลาง
ให้พลังงานถึง 147 กิโลแคลอรี่ หรือ 147,000 แคลอรี่ (ตามตารางอ้างอิง)

สารอาหารปริมาณต่อ 100 กรัม
พลังงาน147 กิโลแคลอรี่
โปรตีน1.47 กรัม
ไขมันทั้งหมด5.33 กรัม
คาร์โบไฮเดรต27.09 กรัม
ใยอาหาร3.80 กรัม
แร่ธาตุ
แคลเซียม6 มิลลิกรัม
เหล็ก0.43 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม30 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส39 มิลลิกรัม
โพแทสเซียม436 มิลลิกรัม
โซเดียม2 มิลลิกรัม
สังกะสี0.28 มิลลิกรัม
วิตามิน
วิตามินซี19.7 มิลลิกรัม
วิตามินบี 10.374 มิลลิกรัม
วิตามินบี 20.2 มิลลิกรัม
วิตามินบี 31.074 มิลลิกรัม
วิตามินบี 60.316 มิลลิกรัม
วิตามินเอ RAE2 ไมโครกรัม
วิตามินเอ IU44 IU
ไขมัน
ไขมันไม่อิ่มตัว0 กรัม
คอเรสเตอรอล0 มิลลิกรัม

– – – – – – – – – – – – – – –
เนื่องจากวิตามินเอ ที่พบในอาหารมี 2 รูปแบบคือ
1. วิตามินเอที่พร้อมใช้งาน: วิตามินเอ เรตินอล (Performed vitamin A)
2. วิตามินเอที่เป็นสารตั้งต้น ร่างกายนำไปสร้างวิตามินเอ (Carotenoids)

World Health Organization (WHO) จึงกำหนดหน่วยสากลเพื่อเป็นหน่วยอ้างอิงเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์แต่ละตัวเมื่อยาหรือวิตามินมีการแตกตัวในร่างกาย เช่น International Unit (IU), Retinol activity equivalents (RAE)

โดย วิตามินเอ 1 IU = 0.3 ไมโครกรัม เรตินอล = 0.6 ไมโคกรัม เบต้า-แคโรทีน
– – – – – – – – – – – – – – –

เป็นยังไงบ้างคะ…? สำหรับพลังงานที่ได้รับจากทุเรียน 2/3 พลู ขอย้ำอีกครั้งว่า ยังไม่ถึง 1 พลู ซึ่งโดยปกติพลังงานที่ผู้ใหญ่ต้องการต่อวัน อยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรี

ยังไม่รวมกับอาหารคาว หวาน ชา กาแฟ นม น้ำตาล และอื่นๆที่เราบริโภคใน 1 วัน เรียกได้ว่าต้องรับประทานกันอย่างระมัดระวังเลยทีเดียว

โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน ต้องจำกัดปริมาณ ลดน้อยลงไปอีก

จึงไม่แปลกเลยที่หลายคนจะบอกต่อๆกันว่า ทานทุเรียนเยอะๆ ระวังอ้วน เพราะร่างกายนำพลังงานไปใช้ไม่หมดนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่:

เดอะ ลาลูแบร์, มร., จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, (พิมพ์ครั้งที่ 2) แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548.

นิธิยา รัตนาปนนท์ และ พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์. (ม.ป.ป.) International Unit (I.U.) หน่วยวัดมาตรฐานสากล.

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 62 เรื่องทูตฝรั่งสมัยรัตนโกสินทร์, พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสรรพกิจปรีชา (ชื่น โชติกเสถียร) ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479

ระติพร หาเรืองกิจ และ สุมิตรา ภู่วโรดม. (2561). บรรยายพิเศษเรื่อง สารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เขตร้อน: งานวิจัยและประโยชน์ต่อสุขภาพ

Annalisa Dass, (2007), National Library Board Singapore: Durain

U.S. Department of Agriculture (USDA).National Nutrient Database for Standard Reference: Durian, raw or frozen. Released in 2018.